โรคจากอาชีพนั้นเกิดจากมีปัจจัยภายนอกมากระทบทำให้เกิดโรคขึ้นมาเช่นคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานแล้วได้รับพิษจากสารเคมีทำให้เกิดโรคต่างๆเช่น โรคมะเร็งปอด โรคผิวหนังอักเสบ โรคหอบหืดนั่นคือปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดโรคจากการทำงาน แต่ถ้าคนงานในโรงงานนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือยกของหนักในลักษณะที่หลังโค้งงอจนทำให้เกิดโรคปวดหลังนั่นคือสาเหตุของโรคเกิดจากปัจจัยทางด้านร่างกายร่วมกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสมทำให้เกิดโรคที่เกิดเนื่องจากงาน
ปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจากการทำงานคือสภาพของผู้ทำงาน (Workers) และ สภาพงาน (Work Conditions) โดยทั่วไปคนที่อายุยังน้อยจะมีสภาพร่างกายที่ดีกว่าคนอายุมากจึงมีโอกาสเกิดโรคจากการทำงานได้น้อยกว่าแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบอื่นๆเช่น พฤติกรรมของคนงานด้วยเช่นการดื่มสุรา การสูบบุหรี่ก็ทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ประสบการณ์การทำงานของคนงานก็มีผลต่อจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงานเช่นกัน
ส่วนสภาพของงานที่ทำได้แก่ ระบบของงาน เวลาทำงาน จำนวนกะและความถี่ในการเปลี่ยนกะ ฯลฯ ถ้าระบบการทำงานมุ่งเน้นจำนวนงานให้ได้มากที่สุดจะมีโอกาสทำให้คนงานขาดความระมัดระวังในการทำงานจนทำให้เกิดอันตรายได้เพราะมัวมุ่งแต่จะทำงานให้ได้ปริมาณงานมากๆนั่นเอง โรงงานส่วนมากจะทำงานเป็นกะและมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกะ ถ้าความถี่ในการเปลี่ยนกะมีมากเช่นเปลี่ยนกะทุกเดือนจะทำให้ร่างกายของพนักงานต้องปรับตัวตามทั้งเวลากินเวลานอนและการทำกิจวัตรประจำวัน ดังนั้นโรงงานที่มีการเปลี่ยนกะบ่อยจะมีโอกาสสูงที่จะทำให้พนักงานเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งจะส่งผลถึงผลการทำงานด้วย
โรคที่เกิดจากการทำงานไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นงานในโรงงานเท่านั้น พนักงานที่ทำงานในสำนักงานก็มีสิทธิ์เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานได้เช่นกันตัวอย่างเช่น โรค CVS (Computer Vision Syndrome) ที่เกิดจากการนั่งทำงานอยู่กับจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและต้องใช้สายตาเพ่งมองจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน นอกจากนี้ยังมีอีกโรคที่คล้ายกันคือโรค CTS (Carpal Tunnel Syndrome) ซึ่งมีสาเหตุมากจากคอมพิวเตอร์เหมือนกันเพียงแต่ CTS นี้จะเกิดกับกระดูกข้อมือ กระดูกนิ้วจากการที่นั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์โดยการพิมพ์งานแล้วใช้ข้อมือและนิ้วมือพิมพ์งานแต่ลักษณะท่านั่งตลอดจนการวางมือและระดับความสูงของโต๊ะคอมพิวเตอร์ไม่ได้ระดับที่พอดี เมื่อใช้มือพิมพ์งานหรือคลิกเมาส์ตลอดทั้งวันจึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือชาบริเวณข้อมือและกระดูกนิ้วมือ
โรคที่เกิดจากการทำงานเมื่อเกิดกับใครแล้วส่วนมากจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือพูดง่ายๆว่าจะต้องมีความพิการให้เห็นอยู่บ้างคือไม่สามารถรักษาฟื้นฟูให้หายกลับมาเป็นปกติได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการเน้นที่หาทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่เกิดจากการทำงานจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่หากใครเกิดป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานขึ้นมาแล้วก็ควรทราบวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาและการฟื้นฟูสภาพร่างกายไว้บ้าง
วิธีวินิจฉัยโรคที่เกิดจากการทำงาน โดยทั่วไปก็อาศัยหลักวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ทำอยู่ตามปกติว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรแต่ที่จำเป็นต้องทำเป็นอย่างมากเพื่อผลในการรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายที่เหมาะสมคือต้องมีการซักประวัติและข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานโดยละเอียดและอาจมีการซักถามเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่บ้านตลอดจนงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำเช่น บ้านพักอยู่บริเวณใดแถวนั้นมีสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้หรือไม่หรืองานอดิเรกของผู้ป่วยคือชอบกีฬายิงปืนก็อาจเป็นปัจจัยร่วมทำให้หูเสื่อมได้ นอกจากนี้การวินิจฉัยของแพทย์ยังต้องพิจารณาว่าปัจจัยที่มีผลต่อโรคหรือสิ่งคุกคามต่อสุขภาพของผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานมีอะไรบ้างซึ่งต้องหาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อหาข้อสรุปว่าผู้ป่วยเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่และสาเหตุเกิดจากอะไรเป็นสำคัญ
เมื่อแพทย์วินิจฉัยเสร็จแล้วก็จะทำการรักษาตามข้อมูลที่รวบรวมได้หากรักษาไประยะหนึ่งแล้วร่างกายของผู้ป่วยยังไม่ปกติก็ต้องส่งเข้ารับการฟื้นฟูสภาพร่างกาย (Physical Rehabilitation) บางทีอาจต้องส่งผู้ป่วยเข้าทำการฟื้นฟูเพื่อฝึกอาชีพด้วยแล้วจึงส่งผู้ป่วยกลับเข้าทำงานโดยพิจารณาว่าหากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุของโรคที่เกิดจากการทำงานของผู้ป่วยก็จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เหมาะสมเสียก่อนแล้วจึงส่งผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน
โรคที่เกิดจากการทำงานเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ควรให้ความสำคัญ ลองคิดดูว่าหากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคจากการทำงาน พอคนงานป่วยก็ต้องหยุดงานไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษานั่นคือต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายและงานก็ต้องสะดุดอีกด้วยนั่นจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก แต่หากให้ความสำคัญกับการป้องกันจะเป็นการลดต้นทุนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ไปได้มากอีกทั้งขวัญและกำลังใจของพนักงานก็ดีขึ้นหากทางโรงงานหรือผู้ประกอบการให้ความใส่ใจความเป็นอยู่และสภาพการทำงานของพนักงาน พนักงานก็มีความสุขในการทำงานและทำงานได้ตามเป้าหมาย วิน วิน ทั้งสองฝ่าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น